คนตาบอดกับความกลัว

1 September 2012 virusfowl

คนตาบอดกับความกลัว

สืบเนื่องจากรายการ witcast ep 7.2 ที่มีหัวข้อเกี่ยวกับ "ความกลัว" ของมนุษย์ พี่แทน @yeebud (ผู้จัด) ก็เลยเมนชั่นมาถามว่าสนใจจะเขียนบทความเรื่อง "ความกลัวของคนตาบอดไหม?" เช่นว่า คนตาบอดกลัวความมืดไหม? คนตาบอดกลัวผีไหม? ฯ ก็เลยเกิดเป็นบล็อกนี้ขึ้นมา Biggrin

สำหรับผู้ที่ไม่เคยรู้จักหรือสัมผัสกับคนตาบอดมาก่อน ย่อมที่จะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการใช้ชีวิตและมุมมองต่อประสบการณ์ต่างๆ ของคนตาบอด ซึ่งหลายครั้งมันก็ยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ด้วยตัวเอง

ถึงบางครั้งผู้เขียนเองมักจะบอกกับคนอื่นๆ ว่า "คนตาบอดเป็นไงอะเหรอ ก็ลองหลับตาดูสิ" แต่ถ้าคิดดูอย่างลึกๆ แล้ว มันก็มีอีกหลายอย่างที่แค่ "หลับตา" ก็ใช่ว่าจะเข้าใจได้ Blum 3

อย่างในประเด็นด้านความกลัวนี้ บางอย่างคนตาบอดเองก็กลัวได้เหมือนกับคนปกติ แต่ในบางอย่างสิ่งที่คนปกติคิดว่าถ้ามองไม่เห็นเราต้องกลัวแน่ๆ มันกลับเป็นสิ่งแสนสามัญสำหรับคนตาบอดทั่วไปเสียด้วยซ้ำ

เรามาเริ่มกันที่ฉากคลาสสิก // ฮือๆ น่ากลัวจัง // คลุมโปง ขดตัวอยู่ใต้ผ้าห่ม หลับตา ....

จากฉากนี้เราจะวิเคราะห์ได้ว่า เมื่อคนเราเกิดความกลัว ก็มักจะคิดว่าการปิดกั้นประสาทสัมผัส (ห่มผ้ากันการโดนสัมผัสทางผิวหนัง) (หลับตา ปิดกั้นการมองเห็น) จะทำให้เราสามารถหลีกหนีจากสิ่งที่จะทำให้กลัวได้ (จากตัวอย่างคงเป็นการหลบผี) ซึ่งในความจริงการกระทำดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ผีหายไปได้ (ถ้าผีมีจริงอะนะ)

แต่มันเป็นการสะท้อนสามัญสำนึกของคนได้ว่า ถ้าเราไม่เห็นก็คงไม่กลัว ถ้ามีผ้าห่มมากั้น ผีก็จะจับเราไม่ได้ (เหรอ?) ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าคนส่วนนึงจะมีคำถามว่า "อ้าวมองไม่เห็นแล้วกลัวผีได้อย่างไร?"

คนตาบอดกับความมืด

ก่อนจะไปถึง “ผี” เรามาบิ๊วบรรยากาศกันก่อนกับประเด็นความมืดกันก่อนดีกว่า :d

สำหรับประเด็นนี้ คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า "คนตาบอด" เนี่ยมันก็มีระดับของความ "บอด" อยู่หลายระดับ ตั้งแต่ตาบอดข้างเดียว, มองเห็นเลือนราง, มองเห็นแค่แสง จนถึงตาบอดสนิท ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละระดับความ "บอด" ก็จะมีมุมมองและความเข้าใจต่อความมืดที่แตกต่างกันไป

ในสองระดับแรก คือประเภทที่ตาบอดข้างเดียวกับมองเห็นเลือนรางนั้นผู้เขียนขออนุมาณเองไปเลยว่าความเข้าใจเกี่ยวกับความมืดนั้นก็อยู่ในระดับเดียวกับคนสายตาปกติ เพราะพวกเขาสามารถเห็นภาพได้อยู่ และผลกระทบของแสงสว่างก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนที่ใช้ตาในการดำเนินชีวิตทั่วๆ ไป ดังนั้นถ้าคนกลุ่มนี้จะกลัวหรือไม่กลัวความมืด ก็คงจะมีเหตุผลที่ไม่ต่างจากคนปกติแต่อย่างใด

ส่วนอีกสองกลุ่มถัดมา คือพวกที่มองเห็นแค่แสงกับกลุ่มที่ตาบอดสนิทไปเลยนั้น สำหรับคนทั่วไปอาจจะจินตนาการได้ลำบากสักหน่อยว่าคนกลุ่มนี้จะกลัวความมืดกันไหม และถ้ากลัวจะกลัวได้อย่างไร?

หากจะลองวิเคราะห์ดูแล้วผู้เขียนคิดว่า ถ้าจะทำให้เข้าใจคนสองกลุ่มหลังนี้ได้ดีขึ้น เราคงต้องแยกที่มาให้ลงลึกไปอีกหน่อย โดยการแยกว่าคนตาบอดในสองกลุ่มหลังนี้ตาบอดภายหลังหรือตาบอดตั้งแต่กำเหนิด เพราะมันจะทำให้เราอธิบายได้ว่า พวกเขามีมุมมองต่อความมืดอย่างไร

สำหรับคนที่ตาบอดตั้งแต่กำเหนิด ไม่ว่าจะสนิทเลย หรือมองเห็นแค่แสงผู้เขียนเชื่อว่าสำหรับคนกลุ่มนี้ความมืดนั้นไม่มีผลกระทบต่อความกลัวแต่อย่างใด เพราะพวกเขาซึ่งอาจเรียกได้ว่า "ผู้ที่อยู่ในโลกมืด" อยู่แล้ว คงไม่ได้ใช้ชีวิตด้วยความกลัวตลอดเวลาไปได้หรอก ความมืดที่คนทั่วไปเข้าใจว่าพวกเขาเห็นอยู่ตลอดเวลานั้น มันก็แค่ส่วนหนึ่งของชีวิต แน่นอนล่ะ ก็ในเมื่อพวกเขาไม่เคยสัมผัสกับแสงสว่างนี่จะมืดหรือสว่างมันจะแตกต่างกันอย่างไรเล่า

แม้แต่กลุ่มที่ยังพอเห็นแสงก็ตาม ถ้าพวกเขาเห็นในระดับนี้มาตั้งแต่เกิดความต่างของความมืดกับความสว่างมันก็คงเป็นแค่ความวูบไหวที่แทบจะไม่มีความหมายอะไรก็เท่านั้น คงจะบอกไม่ได้ว่ามืดหรือสว่างอะไรดีกว่ากัน ดังนั้นถึงจะอยู่ในความมืดก็คงจะไม่ต่างจากการอยู่ในที่สว่างอะไร แต่อันนี้เราว่ากันถึงผลทางกายภาพตรงๆ นะครับไม่นับผลกระทบด้านจิตวิทยาที่อาจได้รับมาจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจส่งผลได้เช่นกัน

ถัดมาสำหรับกลุ่มที่ตาบอดภายหลัง อันนี้คงต้องระบุไปว่าตาบอดภายหลังที่มีความรับรู้เทียบเท่ากับคนสายตาปกติแล้วอะนะครับ คือรู้จักภาพ สี แสง เหมือนคนปกติแล้ว ถ้าเป็นคนที่ตาบอดตอนยังเด็กมากๆ สักขวบสองขวบอันนี้ก็คงมีความเข้าใจที่ต่างออกไปอีกแบบ

ความกลัวความมืดของคนกลุ่มหลังนี้จะได้รับผลกระทบทางจิตวิทยามาค่อนข้างสูง เนื่องจากพวกเขาเคยรับรู้ถึงความแตกต่างของความมืดกับความสว่างแบบเดียวกับคนปกติมาแล้วนั่นเอง ดังนั้นถึงภายหลังจะไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนเดิม แต่ความรับรู้ที่เคยรู้อยู่แล้ว ก็ยังตามมาส่งผลได้อยู่ดี โดยความรุนแรงอาจแปลผันไปตามกาลเวลาได้ เช่นเมื่อมองไม่เห็นไปนานๆ ก็อาจจะชินกับความมืด จากที่เคยกลัวก็อาจไม่กลัวได้

เหตุการณ์สมมติ:

หมายเหตุตัวละคร

  • A = คนตาบอดประเภท low-vision หรือพวกสายตาเลือนราง คือยังเห็นภาพได้เหมือนคนปกติ แต่ระดับการมองเห็นต่ำกว่าคนปกติ
  • B = คนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเหนิด
  • C = เพิ่งมาตาบอดตอนอยู่ประถม (อนุโลมว่าสนิทหรือไม่สนิทก็ได้)

ณ โรงแรมแห่งหนึ่ง ภายหลังจากนาย A กลับขึ้นมาจากการไปซื้อของกินที่ 7-Eleven ข้างโรงแรม

A: "เฮ้ยไอ้ B อยู่มืดๆ ไม่เปิดไฟไม่กลัวหรอวะ?" B: "กลัวอะไร เปิดไฟไปก็ไม่มีประโยชน์ เปลืองด้วย" A: "..." a: ตะโกนถามเข้าไปในห้องน้ำ "แล้วไอ้ C มรึงมองก็ไม่เห็น อาบน้ำจะเปิดไฟทำไมฟระ?" เสียงตอบออกมาจากห้องน้ำ: "ก็มืดๆ มันน่ากลัวนี่หว่า"...

. . .

แต่อย่างไรก็ตามที่อธิบายไปข้างต้นนี้ ก็เป็นเพียงการวิเคราะห์ความน่าจะเป็นหรือแนวโน้มว่าคนตาบอดกลุ่มไหนน่าจะกลัวหรือไม่กลัวความมืดด้วยเหตุผลอะไร เราคงไม่สามารถตอบคำถามว่า "คนตาบอดกลัวความมืดไหม?" สำหรับคนตาบอดทุกคนไปได้ เช่นเดียวกับที่เราคงไม่สามารถตอบคำถามนี้ถ้าเปลี่ยนตัวแปลในคำถามเป็นคนปกตินั่นเอง

คนตาบอดกลัวผีปะ?

ประเด็นถัดจากความมืด ก็คงจะหนีสิ่งไม่มีชีวิตที่เรียกว่า "ผี" ไปไม่ได้ สำหรับความกลัวหรืออาจจะเรียกว่าความเชื่อเรื่องผีนี้ คงจะไม่ต้องแยกแยะประเภทความตาบอดแต่อย่างใด เพียงแต่คนปกติอาจจะสงสัยว่าคนตาบอดกลัวผีไหม และกลัวได้อย่างไร เพราะพวกเขาอาจจะใช้ประสาทสัมผัสด้านรูป (การมอง) กันจนเคยชินไปหน่อย จนอาจจะลืมว่าความจริงคนเราต่อให้มองไม่เห็นแล้ว ก็ยังเหลือประสาทสัมผัสอีกตั้งหลายอย่างที่ยังใช้งานได้

และ "ผี" ก็ไม่ได้ปรากฏมาให้เราสัมผัสกันเพียงแค่รูปเพียงอย่างเดียว "ผี" อาจจะมาเป็นเสียง กลิ่น หรือแม้แต่รูปสัมผัสที่จับต้องได้ก็เป็นได้ (ใครเคยเจอมั่ง!) ดังนั้นถ้า "ผี" มีจริง คนตาบอดที่เพียงแค่เสียประสาทสัมผัสไปอย่างหนึ่ง ก็ยังสามารถสัมผัสกับผีได้อีกตั้งหลายแบบ ซึ่งก็รวมไปถึงพวกการกลัว เลือด, ศพ, สัตว์เลื้อยคลาน, แมลง, สัตว์น้ำ, ลฯล ที่คนปกติหลายคนก็กลัว (หรือจะเรียกว่าไม่ชอบก็ตาม) ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนตาบอดก็ยังสามารถสัมผัสมันได้ด้วยประสาทสัมผัสที่เหลือเช่นกัน แต่ใครจะกลัว/ไม่กลัว ชอบ/ไม่ชอบ อันนี้ก็คงต้องถามกันรายตัวอ่านะ I-m so happy

ดังนั้นสำหรับแฟนๆ รายการเรื่องเล่าเรื่องผี อย่างรายการ The Shock ที่อาจจะเคยได้ฟังคนเล่าที่เป็นคนตาบอดโทรเข้ามาเล่า ก็ไม่ต้องสงสัยไปว่า "มันแต่งเรื่องป่าววะ" มันโม้ป่าววะ" หรือแม้แต่ "มันตาบอดจริงเหรอ?" เพราะผู้เขียนยืนยันได้ว่ามีคนตาบอดจริงๆ ที่เจอประสบการณ์ที่โทรไปเล่าจริง ในสถานที่นั้นจริง โทรเข้าไปเล่าจริงๆ แน่นอน (แต่ยืนยันแค่บางสายนะครับ อาจจะมีที่ไม่จริงบ้างก็เป็นได้) เพราะผู้เขียนเองก็เคยอยู่ในสถานที่ที่เกิดเหตุและทราบว่าคนเล่ามีตัวตนจริง (คือยืนยันว่าสถานที่มีจริงและเรื่องเล่าเหล่านั้นมีมูลจริง แต่ไม่ได้ประสบเหตุเองนะฮ้าฟ) :O

ที่เล่ามานี้ก็แค่เป็นการยืนยันว่า คนตาบอดเองก็มีบางคนที่มีประสบการณ์กับคุณๆ ที่ไม่มีชีวิตแล้วเหล่านี้กันอยู่บ้าง นอกจากจะกลัวได้เหมือนคนปกติแล้ว ก็ยังสามารถเจอผีได้เหมือนคนปกติอีกด้วย!

และก็ไม่ได้ต่างไปจากคนทั่วไป คนที่กลัวผีก็ไม่รู้เป็นอะไร มักจะชอบฟังเรื่องผีกันจัง คนตาบอดเองก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะรายการผีๆ รายการเล่าเรื่องผี นิยายผีๆ สื่อเหล่านี้มักจะได้รับความสนใจจากคนตาบอดเป็นอันดับต้นๆ เหมือนจะเป็นฟากตรงกันข้ามกับความเข้าใจของคนส่วนมากที่คิดจะอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง ก็มักจะคิดว่า "เราอ่านหนังสือธรรมะให้เขาฟังดีกว่า" Blum 3

"คนตาบอดดูหนังผีแล้วจะกลัวปะ?" ต้องมีคนสงสัยประเด็นนี้แน่ๆ 55 ถ้าจะให้ผู้เขียนวิเคราะห์ ก็คงต้องบอกว่าสิ่งที่จะทำให้คนตาบอดมีอารมณ์ร่วมไปกับหนังผี คงไม่ใช่ภาพ (ถึงมันจะทำออกมาได้น่ากลัวแค่ไหนก็ตาม) ก็เราไม่เห็นภาพอยู่แล้วนี่นา แต่ "ซาวประกอบ" ต่างหาก ที่จะทำให้คนตาบอดมีอารมณ์ร่วมไปกับหนังผีได้ รวมไปถึงเนื้อเรื่อง เช่นมีการเฉลยภายหลังว่าตัวละครนี้ที่จริงแล้ว ไม่ .. ใช่ ... คน ... !!!

ดังนั้นคำถามว่า "คนตาบอดกลัวผีปะ?" ถ้าเพียงเราจะไม่มองแต่มิติด้านการมองเห็น และเข้าใจว่าคนตาบอดก็มีประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ (ที่เหลือ) ไม่ต่างจากคนปกติแล้ว เราก็จะเข้าใจได้ว่า คนตาบอดก็สามารถกลัวหรือไม่กลัวผี ได้เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไปนั่นเอง

ความกลัวด้านอื่นๆ

ถ้าคุณเข้าใจความ"ตาบอด" ว่าเป็นเพียงการขาดประสาทสัมผัสไปอย่างหนึ่ง ผู้เขียนเชื่อว่าคำถามอื่นๆ ที่อาจมีตามมา ก็น่าจะสามารถทำความเข้าใจและหาคำตอบได้ง่ายยิ่งขึ้นกันแล้วล่ะ

"ความกลัว" ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ความกังวล, ความไม่รู้, ความเครียด, ความประหม่า ฯ คนตาบอดก็สามารถมีได้เช่นเดียวกับคนปกตินั่นแหละ

เชื่อว่าคงต้องมีคนตั้งคำถามว่า "แล้วมีความกลัวด้านไหนไหม ที่คนตาบอดจะมีมากกว่าคนปกติ" คำถามนี้ผู้เขียนคิดว่า คงจะเป็น "ความไม่รู้" นั่นแหละที่คนตาบอดจะมีได้มากกว่าคนปกติสักหน่อย เพราะหลายอย่างเพียงแค่คุณมองไป คุณก็เห็นแล้วว่ามันคืออะไร มันมีอะไร แต่สำหรับคนตาบอด การฟังหรือการสัมผัสมันไม่สามารถตอบสนองต่อความไม่รู้ได้อย่างนั้น เราจำเป็นต้องไปเผชิญกับสิ่งๆ นั้น จริงๆ ถึงจะรู้ได้ว่ามันคืออะไร

การดำเนินชีวิตประจำวันของคนตาบอดส่วนมากแล้วก็ต้องใช้ความเคยชินเป็นปัจจัยหลัก เช่น ความเคยชินกับสถานที่ ความเคยชินกับระยะทาง เป็นต้น

ตัวอย่างสมมติ เหตุเกิดขึ้น ณ ห้องน้ำในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง

คนปกติ: ก็แค่กวาดตามอง แล้วก็เดินเข้าไปใช้บริการได้เลย

คนตาบอด: (นึกในใจ) "แล้วอะไรมันอยู่ตรงไหนหว่า" เกิดความกังวล สงสัย ไม่แน่ใจ เพราะความไม่รู้ ... วิธีหาทางออก ถ้าไม่ขอความช่วยเหลือจากคนในห้องน้ำ (ซึ่งอาจจะไม่มีใครอยู่เลยก็ได้) ก็ต้องเดินเข้าไปสำรวจด้วยตัวเอง ซึ่งก็อาจเดินชน วนไปวนมา กว่าจะพอนึกภาพรวมออกว่าห้องน้ำที่นี่อะไรอยู่ตรงไหน (เห้อออ กว่าจะได้เข้าห้องน้ำ .)

อันนี้ก็เป็นเหตุการณ์สมมติ(ที่อิงเรื่องจริง) เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นนะครับ แต่จะว่าไปความกลัวจากความไม่รู้ก็น่าจะเกิดได้ในอีกหลายๆ สถานการณ์ ส่วนมากก็คงเป็นการใช้ชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปนี่แหละ

แต่ส่วนมากแล้วความกลัวในทำนองนี้ คนตาบอดเองก็ต้องฝึกให้คุ้นเคยกับมันให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ขึ้นรถลงเรือ การใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ทำกับข้าว กินข้าว ซักผ้า ถูบ้าน โดยที่เราอาจจะทำมันไม่ได้ดีหรือสะดวกเท่ากับคนปกติ แต่ก็ต้องฝึก ในตอนแรกๆ ก็อาจกลัว เหมือนเราหัดว่ายน้ำหรือขี่จักรยานครั้งแรก เชื่อว่าหลายคนก็รู้สึกกลัวๆ อยู่บ้าง แต่เมื่อฝึกจนทำได้ จนคุ้นเคย มันก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตไป...

จากการชมรายการพื้นที่ชีวิต ตอน "ความกลัว" ก็ทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วคนเรากลัวเพราะความไม่รู้ หรือกลัวเพราะความรู้(รู้ว่ามันน่ากลัวนี่นา) กันแน่ ?

หลายๆ อย่างเพราะเราไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ในความมืด ไม่รู้ว่าถ้าทำไปแล้วจะเป็นอย่างไร เราเลยกลัว

แต่บางอย่างเราก็จำเป็นต้องรู้ เราถึงจะกลัวได้ เช่นถ้าเป็นตอนกลางคืน ณ ซอยเปลี่ยวแห่งหนึ่ง อยู่ดีๆ มีคนมาโผล่ให้เราเห็น ถ้าเราไม่เคยมีความรู้เรื่องผีมาก่อน เราก็อาจแค่สงสัยว่าอยู่ๆ เขามาโผล่ได้อย่างไร ก็อาจเกิดแค่ความสงสัย แต่ถ้าเรามีความรู้เรื่องผี (ซึ่งคนส่วนมากก็ได้รับการปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้วแน่ๆ) เราก็จะเกิดความกลัวมากกว่าความสงสัย

เลยพาลจินตนาการไปต่อว่า ถ้าต่อไปในโลกอนาคตที่มนุษย์คิดค้นระบบว้าป (การเคลื่อนย้ายมวลสาร) มาได้แล้ว ผู้คนว้าปไปว้าปมากันเป็นเรื่องปกติ ผีที่เคยทำให้คนกลัวโดยการอยู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาให้เห็น ก็อาจต้องเปลี่ยนมุกใหม่ เพราะการผลุบๆโผล่ๆ ของคนกลายเป็นเรื่องปกติในยุคนั้นไปแล้ว Smile

และสมมติเหตุการณ์เดียวกับในรายการ ถ้าให้คนตาบอดไปเป็นผู้ทดสอบความกลัวแบบนั้น เข้าไปในโรงบาลร้าง ไปนอนในป่าช้า ผู้เขียนเชื่อว่าผลที่ออกมาก็น่าจะไม่แตกต่างจากสิ่งที่เกิดกับพิธีกรทั้งสองท่าน สำหรับคนตาบอดที่มีพื้นฐานความกลัวอยู่แล้ว มีจิตใจที่ไม่มั่นคง ก็ต้องกลัวเช่นกัน โดยสิ่งที่สร้างขึ้นมาหลอนตัวเองก็อาจเป็นเสียง คืออาจจะแค่ได้ยิงเสียงอะไรนิดหน่อยก็จินตนาการไปไหนต่อไหน ซึ่งถ้าคนปกติอยู่ในที่ที่ไม่มีแสงเลย ก็เชื่อว่า "เสียง" ก็จะเป็นปัจจัยให้จินตนาการ สร้างความกลัวให้ตัวเองขึ้นมาแบบนี้เช่นกัน

แต่สมมติเหตุการณ์ทดสอบเดียวกันนี้ แต่ให้คนตาบอดไปทดสอบแต่เป็นตอนกลางวันล่ะ ... ในเมื่อกลางวันหรือกลางคืนคุณก็มืดเหมือนกันนี่ จะมีผลต่อความกลัวไหม กรณีนี้ผู้เขียนคิดว่าน่าจะไม่กลัวมากเท่ากลางคืนเหมือนกับคนปกตินั่นแหละ ทำไมน่ะเหรอ ก็ความเชื่อที่ปลูกฝังกันมาไงล่ะ "ผีไม่ออกมาตอนกลางวันหรอก" 555

กรณีอื่นๆ เช่น การกลัวความสูง ในข้อนี้ผู้เขียนเชื่อว่าสาเหตุของการกลัวความสูงมาจากการเห็นเป็นหลัก อนุมาณจากเรามักจะได้ยินว่าถ้ากลัวก็อย่ามอง และพอไม่มองความกลัวก็ลดลงได้จริงๆ (ถึงจะไม่หมดเพราะยังเหลือส่วนของจินตภาพอยู่ก็ตาม) ดังนั้นเชื่อว่าคนตาบอดที่มองไม่เห็นเลยก็น่าจะไม่กลัวความสูง

ถ้าคนตาบอดไปยืนอยู่ริมหน้าผาล่ะจะกลัวไหม? ในกรณีนี้ความกลัวคงแบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ คือการกลัวความสูง (ซึ่งก็อย่างที่บอกไปแล้วถ้าไม่เห็นก็น่าจะไม่กลัว) กับการกลัวตกลงไป อันนี้ต่อให้มองไม่เห็นแต่ถ้าทราบว่าข้างหน้าคือหน้าผาใครก็คงต้องกลัว แต่ถ้าไม่รู้คืออยู่ๆ ถูกหลอกให้ไปอยู่ตรงจุดนั้น ก็คิดว่าน่าจะไม่กลัว (คนหลอกพาไปอาจจะกลัวแทน 55)

หรือตัวอย่างความกลัวแปลกๆ เช่นกลัวการขึ้น/ลงบันไดเลื่อน ต้องบอกว่าความจริงแล้วคนตาบอดส่วนมากสามารถขึ้น/ลงบันไดได้อย่างสบาย (ผู้เขียนถอยหลังลงบันไดได้สบายๆ เลยนะ หรือจะวิ่งขึ้น/ลง ทีละหลายๆ ขั้นก็เป็นเรื่องปกติ XD) แต่เคยได้ยินมาว่ามีเพื่อนตาบอดคนนึงกลัวการใช้งานบันไดเลื่อน จนเวลาไปห้างต้องใช้ลิฟต์แทนตลอด อันนี้ก็ไม่ทราบสาเหตุว่าเขามีความหลังอะไรไม่ดีเกี่ยวกับบันไดเลื่อนหรือเปล่า คงอาจจะคล้ายๆ คนปกติบางคนที่กลัวที่แคบล่ะมั้ง? ที่มักจะมีความหลังฝังใจกับที่แคบ ตอนเด็กๆ พอโตมาเลยกลัวที่แคบ

โดยสรุปแล้วมนุษย์เราคงจะมีความกลัวบางส่วนที่สืบทอดผ่าน DNA กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่ว่าคุณจะเหลือประสาทสัมผัศสักกี่อย่าง ตราบใดที่สมองยังทำงานได้ ยังมีความรู้สึกนึกคิดได้ ความกลัวที่ฝังรากอยู่ในสัญชาตญาณก็น่าจะยังทำหน้าที่ของมันได้เท่าเทียมกัน

แต่ความกลัวที่ฝังมากับ DNA นี้ส่วนมากแล้วเหตุผลก็คงเพียงเพื่อป้องกันเราจากอันตรายต่างๆ เพื่อเป็นการเอาชีวิตรอดเป็นหลัก แต่ความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นมาภายหลัง จากสังคม, จากศีลธรรม, จากศาสนา, จากกฎหมาย หรือเรียกได้ว่าเป็นความกลัวที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้น ถ้าเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อความสงบสุขของสังคมโดยรวมก็ดีไป

แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความกลัวหลายๆ อย่างที่มนุษย์สร้าง เพื่อให้มนุษย์กลัว และมนุษย์กลุ่มแรกก็หาผลประโยชน์จากความกลัวของมนุษย์กลุ่มหลัง ดังนั้นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดบนโลกกลมๆ ใบนี้ ก็คงหนีไม่พ้นมนุษย์ด้วยกันเองนี่ล่ะ . . .