Audio Guide ที่ไม่ใช่...สำหรับเรา

1 January 2018 virusfowl

ต้องออกตัวก่อนว่า การตีความว่า Audio Guide ที่ในพิพิธภัณฑ์มีไว้ให้ใช้นั้น มีไว้สำหรับอำนวยความสะดวกให้คนตาบอด (แบบที่เราคิด) อาจเป็นการตีความอย่างแคบไปหน่อย แต่ก็นั่นแหละ อย่างน้อยๆ การที่คุณคิดจะมีระบบ Audio Guide แล้ว ยังไง คนกลุ่มนึงที่ควรจะได้รับประโยชน์จากมันได้ด้วยก็คือคนตาบอด หรือคนที่มีปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลในพิพิธภัณฑ์นั้นๆ ด้วยการอ่าน แต่อย่างไรก็ตาม ข้อติต่อไปที่จะพบในบทความนี้ ก็อ้างอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน (ซึ่งก็ไม่ได้มากอะไร มีตัวเปรียบเทียบแค่ที่เดียว) และเป็นคนตาบอด มันก็อาจจะไม่ได้ครบถ้วนหรือกว้างขวางแต่อย่างไร


วันสิ้นปี พ.ส. 2560 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการ "ถอดรหัสไทย" ที่ Museum Siam มา และก่อนไป ก็เห็นว่าทางพิพิธภัณฑ์ มีระบบ Audio Guide ให้บริการด้วยแฮะ เออ ดีๆ น่าสนใจ ซึ่งจากที่เคยเห็นรีวิวคร่าวๆ มาก่อนแล้ว ก็เห็นว่าตัวนิทรรศการของเขาเอง ก็มี interactive ให้ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมได้ ก็คิดว่า เราก็อาจมีอะไรให้เล่นได้บ้าง (มั้ง) .....

แอบบ่นก่อนว่า การเดินทางไป ต้องนั่งรถเมล์ ในจุดที่ไม่คุ้นเคย (ทั้งผู้เขียนและคนพาไป) เราก็เลยหวังเพิ่ง Google Maps เพราะเห็นจาก ข่าวนี้ ว่า Maps มันสามารถบอกขั้นตอนการเดินทางให้เราแบบทีละขั้น ทีละขั้น ได้ หรือผู้เขียนจะเข้าใจผิดไปเอง ว่ามันจะพูดบอกเหมือนตอนใช้นำทางแบบขับรถหว่า.... มันไม่เห็นบอกอัลไลเลยยยยยย Sad

แต่ก็นั่นแหละ ใช้ทั้งข้อมูลจาก Google Maps ใช้ทั้งการถามคนแถวนั้นประกอบกัน มันก็ทำให้เราไปถึงที่หมายได้ แต่ระหว่างทางมันก็... ไม่ง่ายเท่าไหร่เลย

  • ขั้นแรก ป้ายรถเมล์ป้ายแรกที่ให้ไปขึ้นหลังจากลงรถไฟฟ้า (แม่งป้ายไหนฟระ?)
  • ขึ้นได้แล้ว เชี่ย ถามกระเป๋ารถเมล์ว่าจะลงป้ายนี้ๆ (ตามที่ Maps บอก) ป้ากระเป๋าบอกว่า ไม่ผ่านนะคะ เวร สรุปคือต้องถามเขาว่า เราจะไปลงเพื่อต่อสายนี้ อะ ต้องลงป้ายไหน โอเค ป้ากระเป๋ารู้ (สรุปคือ Google Maps บอกชื่อป้ายมั่ว) และก็มีพี่อีกคนที่เป็นผู้โดยสารรู้ และก็แนะนำเราให้ถูกด้วยว่าถ้าเราจะไป Museum Siam ต้องต่อสายนั้น ที่ป้ายนั้นๆ นะ
  • ลงรถ (สายแรก) ได้แล้ว พี่ที่บอกทางเราก็ลงป้ายเดียวกันนี้ด้วยนะ แล้วก็ใจดีชี้ทางให้ไปต่อด้วย แต่อิคนนำทาง ก็ยังพาเราหลงได้อี๊ก กว่าจะไปรอขึ้นรถสายถัดไปได้ ก็หลงไปหนึ่งรอบ (เลี้ยวผิดฝั่ง) ปัญหาของขั้นตอนนี้คือ ป้ายที่เราลง มันไม่ได้เป็นป้ายที่รอรถสายต่อไปได้เลยอะ ต้องเดินข้ามถนน ข้ามสะพาน ไปรออีกป้ายนึง (หรือเพราะเราลงคนละป้ายกับที่ Maps บอกหว่า?)
  • ปัญหาสุดท้ายของการเดินทางรอบนี้ อันนี้ไม่ได้ผิดที่ Google ละ อันนี้มันเป็นความห่วยแตกของ ขสมก. เราเองนี่แหละ คือนั่งไปได้สักพัก พี่แกมีไล่ผู้โดยสารลง แล้วให้ไปต่อรถคันหน้าด้วยอะ เฮ่ยยย #แบบนี้ก็ได้เหรอ #กรุงเทพฯชีวิตดีๆที่ลงตัว คือมันชอบมีอะไรแบบนี้ แล้วลองคิดดูดิว่าถ้าคนตาบอดเดินทางคนเดียว ต่อให้มีเทคโนโลยีนำทางจากมือถือที่ดีแค่ไหน แต่ตัวระบบขนส่งมวลชนของบ้านเรายังกากขนาดนี้ เชื่อเหอะ ไม่รอด แถมตอนจอดให้ลง ก็ไม่จอดชิดฟุตปาธดีๆ ด้วยนะ "ระวังรถซ้ายด้วยนะคะ" ป้ากระเป๋ารถเมล์กล่าว /me Shok

โอเค บ่นเรื่องการเดินทางมาพอสมควรแล้ว ถึงลงรถเมล์แล้ว มันจะบังคับให้เรานั่งเลย Museum Siam ไป เห็นชัดๆ ว่าผ่าน แต่ก็ลงไม่ได้ #ดีครับดี ต้องเดินย้อนกลับมาอีกคืบใหญ่ๆ บนฟุตปาธที่สุดแสนจะ adventure ของ กทม. (ตกลงคือยังไม่เลิกบ่นเรื่องการเดินทาง) เราก็มาถึง Museum Siam กันแว้วววว


ขั้นตอนการขอ Audio Guide มาใช้ ก็ไม่ยุ่งยากและไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงต้องนำบัตรประชาชนไปแลกเท่านั้น (ดูเหมือนจะเป็นวิธีมาตรฐานแหละนะ) แล้วเราก็จะได้บัตรที่มีตัวเลขมาเอาไว้แลกคืนตอนนำอุปกรณ์มาคืน

note: บล็อกนี้ จะใช้ Audio Guide จาก พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ที่ข้าพเจ้าเคยได้ไปทดลองใช้มา (แต่ไม่ได้เขียนลงบล็อก ฮาาา) เป็นตัวเปรียบเทียบ และจะขอเรียกถึงสั้นๆ ว่าพิมุขสถาน


แรกสัมผัสเลยก็เกิดคำถามในใจว่า "เฮ้ย ทำไมมันใหญ่จังฟระ?" หน้าตาของ Audio Guide ที่ Museum Siam นี้เป็นพลาสติกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทั้งใหญ่ และหนา จะบอกว่าหน้าตาเหมือนมือถือสมัยก่อนที่มีปุ่มกดกับจอเล็กๆ ด้านบน ก็พอได้ แต่นึกถึงมือถือรุ่นที่ขนาดใหญ่เท่านั้นไม่ออกจริงๆ จะเทียบว่าขนาดคล้ายพวก Game Boy มันก็ใหญ่กว่าพอสมควร เทียบกับของที่พิมุขสถานซึ่งเป็นแท่ง ขนาดกำไว้ในมือได้ นี่คือต่างกันค่อนข้างมาก โอเค ในเมื่ออุปกรณ์ออกมาทรงนี้ ก็มีสายคล้องคอมาให้ ก็แปลว่าไม่ได้ออกแบบมาแย่นัก (แต่ดูเป็นภาระไหล่และคอยังไงอยู่นะ)

ด้านข้าง ฝั่งซ้าย มีเพียงรูหูฟังแจ็ค 3.5 มาตรฐานอยู่ทางด้านบน ขอบด้านล่าง เป็นรูร้อยสายค้องคอ (ที่ถอดออกไม่ได้) คือถอดสายร้อยเองไม่ได้ แต่ตัวสายมีตัวล็อกที่แกะออกได้แหละ กับถ้าดูไม่ผิด ก็น่าจะเป็นรู mini USB ที่เอาไว้ชาร์จไฟ และอัพเกรดตัวอุปกรณ์ (ไม่เห็นฝาถ่านนะ เข้าใจว่าคงใช้แบตแบบชาร์จได้ในตัว)

และโซนหลัก คือด้านหน้า ที่มีจอแสดงผลอยู่ด้านบน (ไม่รู้ว่าจอแบบไหน แสดงผลอะไรได้บ้าง ความละเอียดเท่าไหร่ ฯ นะ อิอิ) ที่แน่ๆ คือมันแสดงตัวเลขได้แหละ ใต้จอลงมาเป็นปุ่มกด ซึ่งตัวปุ่มโอเคนะ ปุ่มใหญ่ กดง่าย ปุ่มโซนแรก ต้องเรียกว่าเป็น playback control สินะ มีปุ่มยาวแนวตั้ง อยู่สองฝั่ง แล้วตรงกลาง เป็นปุ่มยาวแนวนอน สองปุ่มซ้อนกัน และโซนถัดลงมา ก็เป็นปุ่มแผงตัวเลข 12 ปุ่มแบบมาตรฐาน แต่ที่ไม่มาตรฐานก็คือ ปุ่มเลข 5 ไม่มีทำติ่งนูนๆ ขึ้นมาให้รู้ว่ามันเป็นปุ่มเลข 5 อะ อันนี้คือความไม่ Universal Design อย่างแรกที่พบ เอาแค่การสัมผัสเองนะ ยังไม่ได้เริ่มใช้งานอะไรเลย

คือต้องบอกว่า อุปกรณ์ ที่มีปุ่ม 16 ปุ่มแค่นี้ คนตาบอดเราสามารถเรียนรู้วิธีใช้ได้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องออกแบบมาให้เราพิเศษอะไรเลย แต่ถ้ามีคนมาสอนเราใช้ และอุปกรณ์จะทำได้มาตรฐานสักนิด ให้ใช้สะดวกมากขึ้นอีกหน่อย คนตาบอดก็ใช้มันได้ด้วยตัวเองแหละ แต่อันนี้ เจ้าหน้าที่ก็พูดเองเลยว่า "อาจจะต้องมีคนช่วยกดให้นะครับ" เอ่อ... แล้วมันจะสะดวกตรงไหนล่ะเนี่ย

ถ้าใครเคยสังเกต ปุ่มเลข 5 ไม่ว่าจะบนโทรศัพท์ (แบบที่มีปุ่มจริงให้กดอะนะ), เครื่องคิดเลข, Numpad บนคีย์บอร์ดขนาด full ล้วนจะมีติ่งซัมติง ที่เราสามารถใช้นิ้วสัมผัสมัน และรู้ได้ว่าอันนี้คือเลข 5 นะ แล้วต่อจากนั้น เราจะสามารถรู้ได้เองจากทิศทาง ว่าเลขอื่นอยู่ตรงไหน อันนี้ไม่ได้ออกแบบมาให้เฉพาะคนตาบอดนะ ลองคิดถึงว่าตัวเรา ถ้าต้องกดเลขหมายในจังหวะที่เราไม่สามารถมองแป้นได้ เช่นในความมืด เราก็สามารถใช้แค่นิ้ว และความทรงจำ กดเลขหมายได้

โอเค แต่ในเมื่อตัว Audio Guide ของที่ Museum Siam นี่ เขาไม่ได้ออกแบบอ้างอิงมาตรฐานที่ว่า เราก็แค่จำว่าแผงโซนด้านล่างนี่ มันเป็นแผงตัวเลข 12 ปุ่มแบบมาตรฐานละกัน อาจจะใช้ไม่สะดวกเท่าที่ควร แต่เราก็ใช้มันแค่ชั่วคราวแหละนะ


ก่อนที่จะไปลงลึกเรื่องการใช้งาน ขอมาแวะที่ตัวหูฟังก่อนละกัน ในฐานะที่เป็นคนที่ ก็เรียกได้ว่า คลุกคลีอยู่ในวงการหูฟังมาระดับนึง (คนที่บ้านอาจจะบอกว่าบ้าหูฟัง มีเต็มบ้านแล้ว จะซื้ออะไรอีก >_< ) ดังนั้น เราก็มีความสนใจว่า หูฟังที่ทาง Museum Siam เลือกมาให้เราใช้กับอุปกรณ์ Audio Guide ของเขานี่มันจะเป็นยี่ห้ออะไรนะ เสียงดีหรือเปล่า จิ๊กมาลองฟังเพลงหน่อยดิ๊....

คงต้องบอกว่าหูฟังที่ทาง Museum Siam เลือกมาให้เราใช้กับ Audio Guide นี่ ค่อนข้างน่าผิดหวัง โอเคๆ มันใช้ฟังเสียง Audio Guide ได้นั่นแหละ เสียงชัดเจน ไม่ได้ขุ่นมัว หรือถือว่าแย่อะไร แต่ความผิดหวัง ไม่ได้อยู่ที่เรื่องคุณภาพเสียง แต่เป็นเรื่องคุณภาพของตัวหูฟังเองมากกว่า

เพราะเท่าที่ดู เข้าใจว่าเป็นหูฟังที่ทาง Museum Siam หรือบริษัทที่ทาง Museum Siam จ้างให้จัดหาอุปกรณ์ Audio Guide นี่จัดมาให้ใช้ด้วยกัน สั่งทำแบบ OEM จากโรงงาน (ซึ่งก็คงไม่พ้นพี่จีน) แหละ เป็นหูฟังแบบ On ear แพดเป็นหนังเทียม มีชั้นฟองน้ำกรองเสียงอยู่บนตะแกรงของ driver ให้อีกชั้นนึง การสวมใส่ก็โอเค กระชับ น่าจะไม่หลุดง่าย กรณีก้มๆ เงยๆ แพดก็นุ่มไม่กระด้างใบหูของผู้สวมใส่แน่ๆ

สายเป็นแบบหุ้มไนลอน ออกจากหูฝั่งเดียว ก็ดูดีนะ แต่ เออ มันออกจากหูข้างไหนล่ะ OEM มา แต่เหมือนว่าจะไม่ได้มีตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ที่จะทำให้เรารู้ว่าหูข้างไหนคือข้างซ้ายหรือข้างขวา (ให้คนที่พาไปลองพยายามหาแล้วนะ แต่ไม่เจอจริงๆ เจอแต่ชื่อแบรนด์แปลกๆ ที่เข้าใจว่าเป็นการสั่ง OEM มานั่นแหละ) ถึงการฟัง Audio Guide เราจะไม่ต้องสนใจเรื่องซ้ายขวา เพราะมันก็น่าจะแค่เป็นเสียงพูดที่เป็น mono แต่ design ของตัวหูฟัง ที่ก้านไม่ได้โผล่มาจากตรงกลางของ cup เป๊ะๆ ดังนั้น หูฟังทรงนี้ เราจะต้องรู้ว่าใส่ฝั่งไหน ถึงจะตรงกับที่เขาออกแบบมาว่ามันจะกระชับกับหัวเราได้พอดี

FYI: โดยส่วนใหญ่ ถ้าเจอหูฟังที่สายโผล่ออกมาจากหูข้างเดียว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า สายออกมาจากหูข้างซ้าย นะจ๊ะหนูๆ

FYI (แถม): และถ้าเจอหูฟังที่มีไมโครโฟน ติดมากับสายหูฟัง ที่เป็นสายไปยังหูข้างใดข้างหนึ่ง ให้เดาไว้ก่อนว่า สายฝั่งที่มีไม น่าจะเป็นหูข้างขวา อันนี้คือจากประสบการณ์ที่เจอมา คาดว่าน่าจะเป็นการออกแบบตามๆ กัน ไม่ได้มีมาตรฐานแต่อย่างไร

และที่ทำให้รู้สึกแย่ไปกว่าไม่รู้จะใส่หูฟังข้างไหนก็คือ เสียงมันดันติดๆ ดับๆ ข้างนึงด้วยอะ อันนี้คือติดๆ ดับๆ นะ แล้วแต่จังหวะ จากการทดลอง คาดว่าสายตรงขั้วแจ็คน่าจะใกล้ขาดแหละ ต้องขยับๆ ให้ถูกมุม มันก็จะดังสองข้างได้ จริงๆ เราควรบอกเจ้าหน้าที่เขานะ กะว่าจะบอกตอนคืนของ (เดี๋ยวเขาหาว่าเราทำพัง) แต่ก็ดันวุ่นๆ เรื่องอื่นจนลืม แล้วตอนรับของ ก็ไม่ได้ลองฟังจริงจังอะไรด้วย แค่ฟังว่าโอเคมันมีเสียง ก็เลิกไป ตอนนั้นคงขยับถูกจังหวะของมันอยู่ มันเลยดังสองข้างปกติ เหอๆ

FYI: หูฟังที่พิมุขสถานนำมาใช้กับ Audio Guide ของเขา ก็เป็นหูฟังแบบ on ear เช่นกัน แต่ใช้แบรนด์ sennheiser เชียวนะเคอะ


มาเข้าสู่ประเด็นหลักกันดีกว่า เมื่อได้เริ่มใช้งานเจ้าตัว Audio Guide ของที่ Museum Siam แล้ว เราก็พบความไม่ประทับใจหลายอย่าง

เราอธิบายปุ่มโซน playback เพิ่มเติมก่อนแล้วกันเนอะ

  • ปุ่มยาวแนวตั้ง ด้านซ้าย
    • บน = next sentence
    • ล่าง = previous sentence
  • ปุ่มยาวแนวตั้ง ด้านขวา
    • บน = volume up
    • ล่าง = volume down
  • ปุ่มยาว แนวนอน
    • บน = play
    • ล่าง = pause

ทั้งนี้ ปุ่มโซนนี้อาจจะมีหน้าที่อื่นๆ ได้อีก เนื่องจากเห็นว่ามี Audio Guide ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งคาดว่าน่าจะเปลี่ยนภาษาได้ในเครื่องเดียวกัน (ไม่ได้แยกเครื่องตามภาษาหรอกมั้ง) ปุ่ม * / # ด้านล่าง น่าจะมีปุ่มไหนเป็นปุ่ม menu สักปุ่มแหละ อีกปุ่ม ก็น่าจะเป็นปุ่ม clear เวลากดตัวเลขผิด

วิธีการใช้งานก็คือ กดตัวเลข ตามห้องที่เราเข้าชม แล้วก็กด play มันก็จะเล่นไฟล์เสียงของห้องๆ นั้นให้เราฟัง ซึ่งนิทรรศการ "ถอดรหัสไทย" คราวนี้มีทั้งหมด 14 ห้อง แปลว่าตัวอุปกรณ์รองรับการกดตัวเลข (ต่อหนึ่งคำสั่ง) ได้มากกว่าหนึ่งหลัก คืออย่างน้อยๆ ก็ต้องได้สองหลักใช่ไหม สำหรับ 14 ห้อง ซึ่งมีข้อดีก็คือ แบบนี้เราสามารถโปรแกรมมันให้ใช้กับอะไรได้หลากหลายมากเลยนะ เพราะใช้การกดตัวเลขเพื่อสั่งงาน แต่ๆ ปัญหาคือ เราก็ต้องรู้นี่แหละว่าเราจะกดตัวเลขอะไร

จากประสบการณ์ที่พิมุขสถาน ตัว Audio Guide จะอ้างอิงกับแต่ละสถานี (station) หมายถึงต่อหนึ่งชิ้นงานที่แสดงเลย โดยใช้อุปกรณ์ไปยิงๆ แล้วกดเล่น (ที่อุปกรณ์มีปุ่มเดียวเลย การปรับความดังใช้การหมุน ซึ่งดูเท่ดีอะ) ดังนั้นการใช้งานถือว่าค่อนข้างสะดวกมาก ผู้ใช้แทบไม่จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีใช้ตัวอุปกรณ์ Audio Guide อะไรเลย แค่รู้ว่าไปถึงก็กดยิงนะ มันก็จะเล่นไฟล์เสียงของสถานีนั้นให้เลย ปัญหาคือ การยิงๆ ที่ว่าเนี่ย เราต้องยิงให้ตรงกับตัวรับสักหน่อย คือค่อนข้างต้องตรงเลยแหละ ไม่ถึงขั้นว่าต้องสัมผัส แต่ตัวรับจะมีองศาในการสะท้อนค่อนข้างน้อยมาก คาดว่าออกแบบมาเพื่อกันการกวนกันของสถานีที่อยู่ติดกันแหละนะ แต่ถ้ามีการออกแบบวางจุดรับสัญญาณนี้ไว้ในตำแหน่งเดียวกัน เช่น ตรงกลางด้านซ้ายของทุกๆ สถานี แบบนี้ มันก็โอเคอยู่นะ

ดังนั้นวิธีของ Audio Guide ที่ Museum Siam นี่ คือเราต้องรู้ว่าเราอยู่ห้องไหน ถึงจะไปกดเลขตามห้องที่เราอยู่ได้ ทีแรกเข้าใจว่าจะต้องกดแยกเป็นแต่ละสถานีได้เหมือนที่พิมุขสถานได้ด้วย แต่กลายเป็นว่า Audio Guide ของที่ Museum Siam นี่คือ แค่แนะนำ (เรียกว่าเกริ่นก็น่าจะได้) ธีมของแต่ละห้องให้เราฟังเฉยๆ จากนั้นก็เชิญไปลุยสัมผัส มอง ดู เล่น กับของที่โชว์ไว้ในแต่ละห้องกันตามสบายนะครับ

ดังนั้น ถ้ามองในเฉพาะมุมของคนตาบอดอย่างเรา มันก็แทบไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่เลยอะ คือถ้าจะแค่เกริ่นให้ฟังแค่นั้น เราหาอ่านข้อมูลมาจากบ้านก็ได้ ว่าห้องไหนธีมอะไร คือเราอาจจะทำการบ้านมาก่อนก็ได้ใช่มะ ว่าเราสนใจธีมของห้องไหน เราอาจจะไม่ได้อยากเดินชมทุกห้องก็ได้

โอเค เดี๋ยวจะว่าเขาไม่ใส่ใจในการออกแบบสำหรับ Universal Design อย่างน้อยๆ ที่เราสัมผัสได้คือ เขาทำทางลาดไว้ให้ค่อนข้างทั่วถึงนะ พวกโซนที่มีสเตป ขึ้นๆ ลงๆ (ส่วนที่เป็นธรณีประตูให้ข้ามนี่ ก็ไม่แน่ใจว่าต้องทำยังไง) แต่การเปลี่ยนชั้น เขาก็มีลิฟต์ให้แหละ


มาโฟกัส จัดเต็มกันถึงเรื่องตัวอุปกรณ์ Audio Guide ดีกว่า มีจุดที่ขัดเคืองใจอีกหลายข้อมาก

  1. อย่างแรกที่บอกไปแล้ว ทำไมปุ่มเลข 5 ไม่มีติ่ง
  2. ไม่มีปุ่ม "stop" ปุ่ม pause เป็นสีแดงนะ ซึ่งโดยทั่วไป เราเข้าใจว่าสีแดงนี่ต้องหมายถึงการหยุด มันก็ควรเป็นปุ่ม stop เปล่าอะ แต่ทำไมพี่ให้มันทำได้แค่ pause เท่านั้นไม่พอ คือสรุปแล้ว มันไม่มีวิธี stop ได้เลย ทั้งที่การออกแบบโดยปกติ ปุ่ม play มันจะสามารถเป็นปุ่ม pause ได้ในตัว กดทีแรก = play กดอีกที = pause แบบนี้ไม่ใช่เหรอ แล้วถ้าจะ stop ก็เป็นปุ่มแยก หรือไม่ก็กดปุ่ม play นั่นแหละค้าง อันนี้คือการออกแบบ playback control ที่เราเจอส่วนมากเลยนะ
  3. เวลากด volume ทำไมพี่ต้องทำให้เสียงพูดที่เล่นอยู่กระตุกด้วยวะครับ เหมือนไม่ใช่หยุดด้วยนะ แต่แบบกระตุกเงียบไปติดนึง ซะอย่างนั้น ใครเขียนโปรแกรมฟระเนี่ย เรียกมาตีมือที
  4. ไม่มีปุ่ม next / previous (track) คือในเมื่อนิทรรศการจัดเป็นห้องๆ และก็เหมือนจงใจให้เดินจากห้องแรกไปจนถึงห้องสุดท้ายแบบเรียงตามลำดับ (ได้) อยู่แล้ว ซึ่งคนส่วนมากก็น่าจะเดินตามลำดับใช่ปะ ดังนั้น คนที่ฟัง Audio Guide ก็ควรจะสามารถกดปุ่มเดียวเพื่อฟังข้อมูลของห้องถัดไปได้เลย แต่นี่คือกลายเป็นว่าก็ต้องกดตัวเลข (ห้อง) เพื่อเลือกห้องถัดไปทุกครั้งแบบนี้เหรอ เป็นการออกแบบที่น่าตีมากอีกข้อ คือถ้าจะปรับปรุง อาจใช้การกด next / previous เดิมนั่นแหละ ค้างเพื่อเป็นการเลื่อนไปยัง track แทนก็ได้นะ เพราะการกดค้างตอนนี้คือการกรอ sentence รัวๆ ซึ่งเท่าที่ฟัง คงไม่มีใครอยากกรอเยอะๆ แบบนั้นหรอก stop แล้วเริ่มใหม่อาจจะดีกว่า (เอ้อ ไม่มีปุ่ม stop อีก)
  5. ควรจะมีเสียง beep เวลากดปุ่มตัวเลข เพื่อ input ข้อนี้ เป็นการแนะนำอะนะ เพราะเท่าที่ดู ตัวอุปกรณ์ ก็เหมือนจะไม่ได้ออกแบบมาให้คนตาบอดใช้เท่าไหร่อยู่แล้ว แต่ "ถ้าจะ" คิดเผื่อคนตาบอดในอนาคตหรืออะไรก็ตาม (อุปกรณ์และระบบมันสามารถแก้ไขได้ โดยไม่ต้องรื้อใหม่ทั้งหมด) ควรทำให้เวลาเรากดตัวเลขแล้ว มีเสียงยืนยันนิดนึงว่า โอเค กดแล้ว คิดง่ายๆ เหมือนพวกตู้ ATM อะ มันเป็นการยืนยันให้ผู้ใช้รับรู้ โดยที่ไม่ใช่แค่แสดงผลให้เห็นเฉพาะบนจอ ทั้งนี้ ถ้าจะออกแบบเพิ่มเติมไปถึงปุ่มอื่นด้วย เช่น กดปุ่ม clear แล้วเป็นเสียงยาวๆ หรือ กด next / previous (เฉพาะ track ถ้าจะมีในอนาคตก็ได้) แล้วมีติ๊ดๆ สองที สามที อะไรก็ว่าไป

อืม ก็น่าจะหมดแล้วมั้ง สำหรับการรีวิว (บ่น) ครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ต้องออกตัวอีกทีว่า โดยส่วนตัวของผู้เขียนเอง ก็มีประสบการณ์กับการใช้ Audio Guide มาน้อยมาก ไม่ได้แปลว่าของที่ Museum Siam นี่มันแย่มาก ไม่น่าใช้หรืออะไร มันก็อาจจะมีทั้งที่ดีกว่า และที่แย่กว่านี้ก็เป็นได้แหละ สำหรับในไทยเอง ก็เริ่มเห็นว่าพิพิธภัณฑ์หลายๆ ที่ก็หันมาใส่ใจเรื่อง Universal Design กันมากขึ้น ทั้งการปรับทางเดิน ทั้งการปรับปรุงการให้ข้อมูลสำหรับคนเข้าชมที่บกพร่องประเภทต่างๆ แต่ก็เข้าใจแหละนะว่า ระบบ Audio Guide นี่เป็นอะไรที่ต้องลงทุนพอสมควร จริงๆ ถ้าแค่ทำเป็น QR Code แล้วใช้มือถือ + อินเทอร์เน็ต ที่แทบทุกคนก็มีติดตัวเป็นอวัยวะที่ 33 กันไปแล้ว เพื่อแทนระบบ Audio Guide ได้ มันก็น่าจะสะดวกต่อทั้งทางพิพิธภัณฑ์ และผู้เข้าชมได้อยู่นะ

อย่างไรก็ตาม บล็อกนี้อาจไม่ได้รีวิวเนื้อหาของนิทรรศการ "ถอดรหัสไทย" เท่าไหร่ (จริงๆ คือไม่มีเลย 555) ถ้าใครสนใจ สามารถตามไปอ่านกันได้จาก นิทรรศการถอดรหัสไทย : เปิดประสบการณ์ความสนุก ณ มิวเซียมสยาม