คนตาบอดก็สามารถต่อ LEGO set ได้ด้วยตัวเอง (เย้)

16 May 2020 virusfowl
LEGO Hospital 60204 + Ice-cream Truck 60253

หลายคนอาจจะสงสัยว่า คำว่า LEGO กับคนตาบอด อาจจะดูไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่ คนตาบอดจะต่อ LEGO ได้เหรอ แล้วต่อไปทำไม คนตาบอดเล่น LEGO แล้วได้อะไร ในโพสต์นี้เรามีคำตอบ

ช่วงปลายปีก่อนได้มีความร่วมมือกันระหว่าง The Lego Foundation, the Austrian Research Institute for Artificial Intelligence และคุณ Matthew Shifrin ซึ่งเป็นคนตาบอดที่หลงใหลในการต่อ LEGO ทำให้เกิดเว็บไซต์ Lego Audio Instructions ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่คู่มือ LEGO set ที่คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้

เริ่มแรก ยังมีคู่มือให้แค่ 4 set ซึ่งเป็น set เล็กๆ แต่ล่าสุดก็ได้มี set ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเยอะพอสมควร และหนึ่งในนั้นก็คือเซ็ตที่ข้าพเจ้าเพิ่งต่อสำเร็จ (?) ไปนั่นเอง

LEGO 60253: Ice-Cream Truck

LEGO set ที่เราเห็นกันทั่วไป

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า LEGO set ก็คือ LEGO กล่องๆ ตามที่เราเห็นมีขายกันทั่วไป ซึ่งรูปแบบในการประกอบ หลักๆ ก็จะต่อตามแบบที่กำหนดมาในแต่ละ set ซึ่งก็จะมีคู่มือมาให้ และส่วนนี้นี่เองที่เป็นปัญหาสำหรับคนตาบอด เพราะแม้ว่าคู่มือดังกล่าวจะมีให้ดาวน์โหลดเป็นไฟล์ PDF จากเว็บของ LEGO เอง แต่ไฟล์ดังกล่าว คนตาบอดก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้ เพราะคู่มือจะอธิบายขั้นตอนการประกอบด้วยรูปภาพ มีส่วนที่เป็นตัวอักษรแค่รายละเอียดที่เป็นคำนำของ set เท่านั้นเอง

ดังนั้นหากคนตาบอดอยากต่อ LEGO set ก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่งคนตาดีมาช่วยอธิบายคู่มือตรงนี้ให้ ซึ่งแน่นอนว่า คนตาบอดที่หลงใหลในการต่อ LEGO นั้นก็มีอยู่ อย่างเช่นคุณ Matthew Shifrin ที่มีญาติช่วยเขียนอธิบายคู่มือ LEGO set ให้เขา จนต่อมา เขาได้รวบรวมไฟล์ดังกล่าว เปิดเป็นเว็บไซต์ http://legofortheblind.com/ ขึ้นมา เพื่อแจกจ่ายคู่มือการต่อ LEGO set ที่คนตาบอดสามารถนำไปอ่านและต่อ set เหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง

ซึ่งก็ดูจะไม่ได้มีความคืบหน้าเท่าไหร่ เนื่องจากการจะเขียนคำอธิบายที่ว่านี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และญาติๆ ของคุณ Matthew Shifrin ก็คงไม่ได้มีเวลาว่างมากมายพอที่จะทำคู่มือของ LEGO set ทุกๆ set ออกมาให้คนตาบอดที่สนใจสามารถดาวน์โหลดไปได้ การหากระบวนการที่ง่ายกว่า ดีกว่า จึงเกิดขึ้น ตามที่ได้เกริ่นไว้แล้วตอนต้น

เว็บ Lego Audio Instructions ถึงแม้ว่าจะใช้คำว่า "audio" เป็นชื่อเว็บ แต่คู่มือที่มีให้ในเว็บ ก็ไม่ได้มีแต่คู่มือที่เป็นไฟล์เสียง หลักๆ แล้ว คู่มือของ LEGO set แต่ละ set ที่มีให้ จะแบ่งออกเป็นสามรูปแบบคือ

  • คู่มือที่ใช้โปรแกรมอ่านจอภาพ (screen reader ) เลื่อนอ่านบนหน้าเว็บโดยตรง
  • คู่มือที่กดอ่านได้จากอุปกรณ์แสดงผลอักษรเบรลล์ (Braille Display)
  • คู่มือที่เป็นไฟล์เสียง (audio)

ก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน ว่าสะดวกอ่านด้วยรูปแบบไหน (ข้าพเจ้าเลือกแบบแรก)

อันที่จริง ก็เห็นข่าวนี้ตั้งแต่ตอนเปิดตัวแล้วแหละ แต่เนื่องจากบนเว็บยังไม่มี set ที่สนใจ ก็เลยยังไม่ได้โอกาสใช้งานอย่างจริงจัง เพียงแค่ทดลองใช้ชิ้นส่วนที่มี ลองต่อ set เล็กๆ ดู ว่าเขาอธิบายแล้วเราจะเข้าใจไหม ซึ่งก็พอได้อยู่นะ สำหรับการต่ออะไรง่ายๆ

แต่อันที่จริงในการเล่นตัวต่อทั่วไป เราจะมีการต่ออีกรูปแบบนึง ซึ่งถ้าเป็น LEGO ก็จะมีศัพท์เฉพาะที่ใช้กันในวงการว่า MOC

MOC การต่อตามใจชอบ

ในวงการ LEGO เราจะมีคำว่า MOC (my own creation) ซึ่งคือการใช้ชิ้นส่วน LEGO มาต่อตามจินตนาการ หรือจะบอกว่าต่อตามใจชอบก็ได้นั่นแหละ ไม่ได้อ้างอิงกับ LEGO set ที่มีออกมาขายเป็นกล่องๆ ตามที่เรามักจะเห็นๆ กัน ซึ่งในร้าน LEGO Certify Shop นั้น จะมีส่วนนึงที่เรียกว่า Pick a Brick (PAB) ที่ขายชิ้นส่วนแบบต่างๆ ของ LEGO และขายตามปริมาณ (เป็นกระป๋องที่ร้านมีไว้ให้) หรืออาจจะช่างตามน้ำหนัก อันนี้แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละสาขา รวมถึงมีเว็บไซต์ต่างๆ ที่ขายชิ้นส่วน LEGO มีทั้งมือหนึ่งมือสอง คนที่ชอบในการ MOC ก็จะใช้ช่องทางเหล่านี้ ในการหาชิ้นส่วนรูปแบบและสีสันต่างๆ ตามที่ต้องการ และนำมาประกอบได้อย่างอิสระ

และอันที่จริง ส่วนตัวก็เริ่มมาจากสาย MOC นี่ (โดยไม่รู้ตัว) เพราะก็เป็นคนนึงที่เล่นตัวต่อในรูปแบบต่างๆ รวมถึงพวกการประกอบโมเดลด้วย มาตั้งแต่เด็ก จนมาสนใจ LEGO จริงจัง ก็เริ่มจาก set Architecture นี่เอง

จากที่แค่อยากได้ set Architecture Studio จนไปถึง LEGO Land

คงต้องเท้าความให้อ่านกันก่อน ว่าที่ไปที่มาของที่ช่วงนี้ข้าพเจ้า (บ้า) LEGO ค่อนข้างมาก อะ เรียกให้ดูดีหน่อย ก็บอกว่าผันตัวมาเข้าวงการ LEGO อย่างเต็มตัวก็แล้วกัน (คือเป็น hobby ที่เปลืองตังมากกกก) สาเหตุมันเนื่องมาจากว่า เมื่อปี 2013 ได้อ่านข่าว เลโก้เปิดตัวชุดสถาปนิก ชิ้นขาวล้วน 1,210 ชิ้น ทำให้สนใจ LEGO set นี้มาก แต่แน่นอนว่าเข้าใจว่ามันหาซื้อในไทยไม่ได้ จะฝากคนหิ้วก็หามีปัญญาไม่ ก็เลยได้แต่เก็บความอยากนั้นไว้เงียบๆ แล้วก็กลับไปส่องกลุ่มหูฟังต่อไป "."

เวลาผ่านไปก็หลายปี ความสนใจนี้ก็ยังอยู่ และก็มีโอกาสที่ได้ 'ผู้ใหญ่ใจดี' ซื้อ LEGO set นี้มาให้และยังมีโอกาสได้ไป LEGO Land ที่มาเลเซียตอนต้นปี 2016 อีกด้วย สามารถอ่านบล็อกที่เคยเขียนเล่าประสบการณ์ครั้งนั้นไว้ได้จาก ที่นี่ #พื้นที่โฆษณา

LEGO มันเรียกพวกได้จริงๆ นะ

จากครานั้น ก็เลยเริ่มผันตัวเข้ามาสู่วงการ LEGO มากขึ้นเรื่อยๆ จาก 1 set เพิ่มมาอีก 3 set และก็ทยอยเพิ่มมาอีกเรื่อยๆ จนช่วงปีก่อน เพิ่งมาค้นพบแหล่มชุมชน LEGO ในไทย มีเว็บที่ขาย จนมามี LEGO Certify Shop แห่งแรกในไทย ก็เลยกลายเป็นที่มาของการเสียทรัพย์ครั้งใหญ่และยาวนาน จนถึงปัจจุบัน

และส่วนที่ชอบเป็นพิเศษใน LEGO Certify Shop ก็คือ PAB นี่แหละ ซึ่งตั้งแต่ร้านเปิดมาปีกว่าๆ ก็ได้ชิ้นส่วนมาเกือบ 10 กระป๋องแล้ว ต่ออะไรไปได้พอสมควร ใครสนใจสามารถดูได้จาก Gallery แน่นอนว่าอันไหนที่เป็นสีขาวล้วน แปลว่ามีพื้นมาจาก 21050: Architecture Studio และโดยมากภาพก็จะไม่ชัด-ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะข้าพเจ้าเป็นคนถ่ายเอง 555

ปัจจุบันนี้ก็คือมี LEGO ในครอบครองทั้งหมดเกือบ 40 set และ MiniFiggures รวมทั้งหมดครบ 100 ตัวพอดิบพอดี

คำว่า 'คุมธีม' ไม่มีจริง

ซึ่ง... ตอนแรกข้าพเจ้าเริ่มมาจาก set 21050: Architecture Studio ก็คิดว่าอยากจะตามแค่ theme Architecture เป็นหลัก (ซึ่ง theme นี้ ไม่มี MiniFiggures แต่อย่างใด) แต่ถ้าคุณเข้าวงการ LEGO แล้ว จะเข้าใจว่า คำว่า "คุมธีม" ไม่มีอยู่จริง 555 ดังนั้น จากที่ตั้งใจไว้ ก็กลายเป็นว่ามี theme อื่นๆ ซึ่งก็มี MiniFiggures ในเซ็ตมาด้วย รวมถึงการเก็บเฉพาะ MiniFiggures เพียวๆ อีกต่างหาก

MiniFiggures นี่ก็ขี้เหงา ขยันเรียกพวกมากันจัง

ก็คือ LEGO จะมีออก MiniFiggures ที่เป็น Collection ออกมาทีละเซ็ต เซ็ตนึงราว 16 ตัวหรือมากกว่า มาในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นถุงฟลอย ซึ่งไม่ระบุว่าข้างในเราจะได้ตัวไหนในเซ็ตนั้นๆ ทำให้เราต้องใช้การ "คลำ" ชิ้นส่วนในถุง ว่าน่าจะเป็นตัวไหน (โดยมากต้องจับจากอุปกรณ์เสริมของแต่ละตัว ซึ่งจะแตกต่างกัน และเป็นจุดสังเกตได้บ้าง) ดูเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับคนตาบอดดีนะ มันเลยเป็นสาเหตุทำให้จากที่ไม่ได้สนใจ MiniFiggures Collection Series มาก่อน ก็ผันตัวเข้าสู่ธีมนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ (เล้ย)

แน่นอนว่า set ต่างๆ ก่อนหน้านี้ที่มี ก็ต้องให้แม่ช่วยเวลาต่อ กลายเป็นกิจกรรมในครอบครัว (?) และในที่สุด...

ได้ต่อ LEGO set ด้วยตัวเองจริงๆ แล้วววว

จากการส่องโปร 5.5 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี่เอง ก็ได้ไปเห็นว่ามีโปรเซ็ต 60253 Ice-cream truck ลดราคา แล้วก็นึกยังไงไม่รู้ ลองเข้าเว็บ LEGO® Audio ดูว่ามีเซ็ตไหนมาเพิ่มบ้างไหมนะ ปรากฏว่ามีคู่มือของเซ็ต 60253 Ice-Cream Truck มาแล้วพอดี ก็เลยจัดมาอย่างไว ^_^

ถึงจะบอกว่าคนตาบอดสามารถใช้คำแนะนำจากเว็บ LEGO® Audio & Braille Instructions เพื่อต่อ LEGO set ได้ แต่มันก็ยังไม่ใช่ 100% อยู่ดี ถ้าหากสนใจเรื่องสี ก็ยังต้องให้คนตาดีแยกสีให้ ซึ่งจริงๆ เรามองว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน มันสามารถมี Hardware ที่ใช้อ่านสีของชิ้นส่วน LEGO ให้คนตาบอดฟังได้แล้ว (อารมณ์เดียวกับแอพบอกสีของสิ่งของต่างๆ) ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องทำมาเป็น hardware เฉพาะ เนื่องจากถ้าจะให้ใช้แอพในมือถือ มันก็ใช้ไม่ค่อยสะดวก และก็ยังอ่านสีออกมาให้ไม่ตรงด้วย (เคยลองแล้ว)

หรือแม้แต่เซ็ตที่ต้องติดสติกเกอร์ ก็ยังต้องให้คนตาดีช่วยติดให้อีกเช่นกัน จริงๆ มีอีกประเด็นที่แอบเคืองทาง LEGO มาก คือกรณีของการประกอบ MiniFiggures นั้น คนตาบอดค่อนข้างจะประกอบได้ด้วยตัวเอง แบบไม่ต้องให้คนตาดีช่วย แต่ยกเว้นอยู่จุดเดียวคือ... หัวของ MiniFiggures เพราะถ้าเราจะต่อให้ถูกต้องสวยงามแล้ว เราต้องหันหน้าของ MiniFiggures ให้ถูกด้าน ซึ่ง.... มันไม่มีจุดสังเกตอะไรให้เราหมุนให้ถูกได้เลย ถ้า LEGO จะทำชิ้นส่วน MiniFiggures head ให้มีจุดสังเกตซะหน่อยนะ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือว่ามีแนวโน้มที่ดี ที่อย่างน้อย ถ้าเราไม่สนใจอะไรมาก สนใจแค่ว่าเราจะต่อออกมาให้ได้รูปร่างที่ถูกต้องตามต้นแบบอย่างเดียวก็พอ คนตาบอดก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขอความช่วยเหลือใดๆ จากคนตาดีก็ได้

ครั้งแรกมันก็ต้องมีพลาดกันบ้างไรบ้าง

ประสบการณ์ที่ได้รับก็คือ .... ต่อออกมาได้ แต่ สลับฝั่งครับพี่น้อง 5555

ในคำแนะนำ จะให้เราวางโครงสร้างแบบที่หน้ารถอยู่ด้านซ้าย และท้ายรถอยู่ด้านขวา ดังนั้นแปลว่าด้านข้างของรถ จะเป็นด้านที่อยู่ตรงหน้าเรา ใช้คำว่าฝั่งไกลจากตัวเรา กับ ฝั่งที่ใกล้ตัวเรา น่าจะเข้าใจได้ชัดเจนที่สุด

แต่ทีนี้คำอธิบายบนเว็บใช้คำว่าด้านหน้ากับด้านหลัง ข้าพเจ้าก็ต่อไปโดยที่เข้าใจความหมายของสองคำนี้ไปเอง และผลสรุปก็คือ ตูเข้าใจมันสลับกันคร้าบบบบบ ทำให้เมื่อต่อออกมาแล้ว มีบางจุดที่น่าสงสัย แต่โครงสร้างโดยรวม ก็ออกมาโอเค แค่สลับฝั่งซ้ายขวาของตัวรถ ซึ่งจริงๆ ความตั้งใจแรก ก็คิดว่าจะสลับฝั่งมันอยู่แล้วแหละ จากที่อ่านรีวิวมา แต่พอต่อเสร็จ เออมันก็ได้รถไอติมในฝั่งที่เราโอเคกับมันอยู่แล้วแฮะ (ก็ยังไม่เอะใจว่าหรือตูต่อผิด) Blum 3

จนให้แม่มาติดสติกเกอร์ให้ และหาจุดว่าอิที่เรางงๆ มันคืออะไร ผิดตอนขั้นไหน ความจริงก็เฉลยว่า ตูต่อสลับฝั่ง และอิส่วนที่สงสัยนั่น มันไม่สามารถสลับฝั่งได้ เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่กำหนดข้างซ้าย/ขวามาอย่างเจาะจง part number 4161331

ซึ่งความจริง ก็ไม่ได้พลาดแค่สลับฝั่ง และชิ้นเดียวนั่นหรอก มีความเข้าใจผิดอีกในหลายจุด เนื่องจากการจะต่อได้โดยไม่ได้เชี่ยวภาษาอังกฤษเนี่ย ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้ว่าเราจะสามารถใช้ Google Translate ช่วยแปลคู่มือทั้งหมดให้เป็นภาษาไทยได้ แต่อย่างแรกที่เราต้องมีความรู้ก็คือ การเรียกชื่อชิ้นส่วน (part) ต่างๆ ของ LEGO เอง ซึ่งเรามองว่าตรงนี้มันก็ค่อนข้างถือเป็นศัพท์เฉพาะทางอยู่เหมือนกันนะ

เมื่อเราเข้าใจในชิ้นส่วนแล้ว ทีนี้เราน่าจะพอเดาได้ โดยที่เรารู้อยู่แล้วว่าตอนนี้เรากำลังต่ออะไร ส่วนไหนของโครงสร้างหลัก ซึ่งคู่มือก็จะอธิบายไว้ทีละส่วนทีละส่วน ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนที่เราอ่านแล้วไม่เคลีย แต่เราก็จะสามารถพอ "เดา" ได้ ว่าควรจะวางชิ้นไหนไว้ตรงไหน ให้มันอยู่ในกรอบของโครงสร้างที่ควรจะเป็น

และก็นั่นแหละ... ด้วยความเป็นไปได้มหาศาลของการต่อ LEGO ถ้าเรา "เดา" เอง โอกาสที่จะไม่ตรงกับที่ LEGO ออกแบบไว้ ก็มีความเป็นไปได้อยู่ อย่างที่ข้าพเจ้าต่อไม่ถูกในตอนแรก โครงสร้างหลัก ก็ออกมาเป็นรถไอติมที่สมบูรณ์ จุดที่ผิดถ้าไม่ได้มองรอบคันอย่างละเอียด และเป็นคนช่างสังเกตจริงๆ เชื่อว่ามีไม่กี่คนที่จะมองออก แน่นอนว่า ล่าสุดก็คือ รื้อออกมาหาจุดที่พลาด แล้วก็แก้ไข ต่อสลับฝั่งกลับไปได้ตามแบบถูกต้องสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ^_^

LEGO Hospital 60204 + Ice-cream Truck 60253 โดยมีรถพยาบาลอยู่ด้านซ้ายของภาพ ถัดมาเป็นตึกจาก set Hospital และด้านขวามีส่วนที่ถูกต่อเติมเป็นโต๊ะนั่ง สำหรับร้านขายขนมใน set เดิม และด้านขวาของภาพเป็นรถไอติมที่จอดหันหน้ารถไปทางขวา หน้าตึกมีเด็กผู้หญิงขี่รถจักรยาน มีหมา 3 ตัว และ เด็กผู้ชายที่ขี่สเก็ตบอร์ด ทุกตัวหันหน้าไปหารถไอติม

คนตาบอดเล่น LEGO แล้วได้อะไร

ในส่วนนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าถ้ามองไม่เห็นแล้วจะเล่น LEGO ไปทำไม คำตอบของข้าพเจ้าก็ค่อนข้างเหมือนกับคนตาบอดคนอื่นๆ ที่เล่น LEGO เหมือนกัน (ก็จากที่อากู๋เจอมานั่นแหละนะ) คือโดยเฉพาะ theme Architecture ที่เป็นสถานที่ต่างๆ นี่ ต่อให้เราได้มีโอกาสไปสถานที่จริง แต่คนตาบอดก็คงไม่สามารถที่จะสัมผัสถึงโครงสร้างของสถาปัตยกรรม ในสถานที่นั้นๆ ได้เหมือนกับการมองเห็นของคนปกติอยู่ดี

แต่การที่เราได้สัมผัสกับแบบจำลอง ก็ทำให้คนตาบอดได้สัมผัสกับสถานที่ "จริงๆ" ไม่ใช่แค่มโนเอาจากคำอธิบายของคนอื่น ซึ่งมีไม่กี่วิธีหรอก ที่เราจะได้สัมผัสอะไรพวกนี้ ส่วนตัวก็เลยสนใจ theme Architecture นี่เป็นหลัก

อย่างที่บอกไปแล้ว ว่าก่อนจะมาสะสม LEGO เป็นเรื่องเป็นราว อย่างนึงที่ข้าพเจ้าชอบมากก็คือโมเดล ที่เป็นโมเดลจากไม้อัด เคยมีเก็บอยู่หลายชุดเหมือนกัน แต่เนื่องจากสถานที่เก็บไม่เอื้ออำนวย วางทิ้งไว้หลังตู้เสื้อผ้า มาดูอีกทีก็เจอฝุ่นกินไปจนมิสามารถทำความสะอาดได้ ก็เลยเจอคุณแม่บังคับให้ทิ้งไปจนเกือบหมด ข้อดีของโมเดลไม้ก็คือ มันสามารถลงรายละเอียดได้ดีกว่า LEGO อยู่บ้าง (เทียบกับ LEGO set เล็กๆ อะนะ ถ้าเป็น LEGO set ใหญ่ที่เน้นรายละเอียด โมเดลไม้ ก็คงสู้ไม่ได้อยู่แล้ว)

ตัวอย่างเช่น เราเคยมีโมเดลของ Eiffel Tower ที่เป็นโมเดลไม้ ก็จะให้รายละเอียดโครงสร้างค่อนข้างชัดเจนกว่า Eiffel Tower ใน 21044: Paris ค่อนข้างมาก (ทั้งนี้เนื่องจากสองอันนี้มีขนาดที่ต่างกันมากด้วย

หรืออย่าง Tokyo Tower ที่เคยเห็นบ่อยๆ จากการ์ตูน Doraemon ใน 21051: Tokyo ก็ทำออกมาได้น่าสงสัยมากว่า แล้วช่องที่บินผ่านมันอยู่ตรงไหน 55

โดยสรุปก็คือ LEGO ถือเป็นโมเดลสามมิติอย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยส่งเสริมการรับรู้ของคนตาบอดได้ ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็น LEGO ไม่ว่าจะเป็นโมเดลสามมิติในรูปแบบไหน ก็ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของคนตาบอดได้เช่นกัน เพียงแต่ข้อดีของ LEGO ก็คือ เราต้องประกอบมันด้วยตัวเองในทุกส่วน ถ้าเป็นในเชิงสถาปัตยกรรม เราก็อาจเข้าใจถึงโครงสร้างของมันได้มากกว่าโมเดลรูปแบบอื่น รวมถึงความเปิดกว้าง ถ้าหากเราไม่ยึดติดอยู่กับ LEGO set แล้ว เราก็ยังสามารถนำชิ้นส่วนที่มี ไปสร้างสรรค์เป็นอะไรต่อมิอะไรตามที่เราต้องการได้อย่างอิสระ ซึ่งโมเดลรูปแบบอื่นๆ คงจะให้ในส่วนนี้ไม่ได้

ของแถม

แถมท้ายกันด้วย slideshow MiniFiggures ของข้าพเจ้า.... ที่ไม่ได้คิดจะมาสายฟิกเล้ยยยย แต่ตอนนี้ก็ได้มี LEGO MiniFiggures ครบ 100 ตัวเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว >_<

ป.ล. การคลำฟิกนี่ใครไม่ลองไม่รู้หรอก Blum 3